ศิลปะและศิลปิน

ช้างไทย (เสาจิตรกรรมภาคกลาง)

ผลงาน : ช้างไทย (เสาจิตรกรรมภาคกลาง)
ศิลปิน : มีชัย สุวรรณสาร
ขนาด : 4.8 x 7.2 เมตร
วัสดุ : ผ้าแคนวาส
เทคนิค : สีอะคริลิกและทองคำเปลว
เสา “ช้างไทย” ประจำภาคกลางนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจิตรกรรมลายทอง หรือลายรดน้ำ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อนที่มีมาช้านาน ศิลปินสร้างลวดลายแบบอุดมคติมาจากพันธุ์พฤกษา ถ่ายทอดความรู้สึกส่วนตัวและความคิดฝันโดยจินตนาการถึงป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีทั้งพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า รวมถึงสัตว์คู่บ้านคู่เมืองอย่าง “ช้าง” ที่หากินอยู่อย่างมีความสุข
 

 

ย่อฮีต น้ำคอง (เสาจิตรกรรมภาคอีสาน)

ชื่อผลงาน : ย่อฮีต นำคอง
ขนาด : 670 x 483  เซนติเมตร
วัสดุ/เทคนิค : สีอะคริลิกและทองคำเปลวบนแคนวาส
อยากให้ท่านเล่าถึงแนวคิดของผลงานชิ้นนี้
แนวคิดของผลงานในครั้งนี้ : มาจากการรวบรวมความสุขในการดำรงชีวิต การสร้างสรรค์ประเพณี และสืบสานวัฒนธรรมของคนอีสานที่มีหลากหลาย โดยใช้ตุงใยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาถ่ายทอดลงบนเสาและได้นำสีจากฮูปแต้มอีสานใช้เป็นโทนสีหลักในชิ้นงาน โดยมีต้นสำมะปิต้นไม้ที่มีทุกสิ่งอย่างของอีสาน ลวดลายของต้นไม้ออกแบบขึ้นใหม่บวกกับลายพื้นถิ่นอีสาน ตามแนวทางฮีตคองของวัฒนธรรม
ความหมายของส่วนต่างๆ ในผลงานของท่านโดยละเอียด : 
ส่วนต่างๆ ของผลงานที่โดดเด่นทั้งเสาคือตุงใยเป็นตัวแบ่งลวดลายของชิ้นงานในการดำเนินเนื้อเรื่องในการเล่าเรื่องวัฒนธรรมประเพณีอีสาน และส่วนพื้นที่ว่างอื่นๆ ก็ได้สอดแทรกประเพณีวัฒนธรรมอีสานเข้าไปให้ได้มากที่สุด และมีต้นสำมะปิที่รวมของดีภาคอีสานไว้มากมาย 
“ตุงใย” หรือตุงใยแมงมุม ทำขึ้นเพื่อแสดงถึงการเคารพสักการะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นมงคลต่อเทศกาลนั้นๆ ใช้ในงานเทศกาลต่างของภาคอีสาน
“ต้นสำมะปิ” สำ-มะ-ปิ เป็นภาษาอีสานที่แปลแล้วได้ความว่า มากมาย มากเหลือหลาย จึงเป็นตามความต้องการที่จะรวบรวมของดีภาคอีสานไว้บนต้นไม้นี้ให้ได้มากที่สุด ลวดลายออกแบบใหม่โดนใช้ลวดลายพื้นถิ่นผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
แรงบันดาลใจและที่มาของแนวความคิด : ตุงใยเป็นเหมือนสื่อกลางเชื่อมความผูกพันของคนในครอบครัวของม โดยเฉพาะหลานสาวที่ผมได้ทำตุงใยไว้ที่บ้าน แล้วแขวนไว้ที่ต้นไม้ที่บ้านให้หลานสาวเล่น จนหลานโตแล้วหลานได้ไปอยู่กับพ่อแม่ เวลาคิดถึงหลานผมชอบมองที่ตุงใยที่แขวนไว้บนต้นไม้ เวลาตุงต้องลมมองแล้วเพลินดีมีความสุข ซึ่งผมนำมาเป็นแรงบัลดาลใจในการทำงานชิ้นนี้ที่สะท้อนความสุขที่บริสุทธิ์
จุดเด่นของผลงานในครั้งนี้ : น่าจะเป็นตุงใยและ“ต้นสำมะปิ” สำ-มะ-ปิ เป็นภาษาอีสานที่แปลแล้วได้ความว่า มากมาย มากเหลือหลาย จึงเป็นตามความต้องการที่จะรวบรวมของดีภาคอีสานไว้บนต้นไม้นี้ให้ได้มากที่สุด

 

ปักษ์ใต้บ้านเรา (เสาจิตรกรรมภาคใต้)

ผลงาน : ปักษ์ใต้บ้านเรา (เสาจิตรกรรมภาคใต้)
ศิลปิน : เป็นไท สว่างศรี
ขนาด : 4.8 x 6.7 เมตร
วัสดุ : ผ้าแคนวาส
เทคนิค : สีอะคริลิก
เสาจิตรกรรมประจำภาคใต้นี้ คือการถ่ายทอดการละเล่นประจำท้องถิ่นทั้งว่าวและมโนราห์ ซึ่งการละเล่นเหล่านี้แฝงคติธรรมและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ไว้ โดยเฉพาะมโนราห์ ซึ่งครอบครัวศิลปินมีความผูกพันเป็นพิเศษ 
เป็นไท สว่างศรี นำเสนอเรื่องราวการละเล่นในรูปแบบที่ลดทอนลงมาผสมผสานกับลายผ้าปาเต๊ะซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของภาคใต้ นอกจากนี้ศิลปินยังเน้นการใช้จุด เส้น สี และแสงเงา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสุข ความสนุก และความงดงามของปักษ์ใต้บ้านเรา
 

 

ปิติ เบิกบาน (เสาจิตรกรรมภาคเหนือ)

ผลงาน: ปิติ เบิกบาน (เสาจิตรกรรมภาคเหนือ)
ศิลปิน : ทรงเดช ทิพย์ทอง
ขนาด : 4.8 x 6.7 เมตร
วัสดุ : ผ้าแคนวาส
เทคนิค : สีอะคริลิกและทองคำเปลว
เสา “ปิติ เบิกบาน” ต้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมากจากการทำตุงของชาวล้านนา ที่ในงานประเพณีมักมีตุงเข้าไปเกี่ยวข้องเกือบทุกงาน โดยเฉพาะประเพณีปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่แท้จริงของชาวล้านนา ทุกหลังคาเรือนจะช่วยกันทำตุงปีเกิดที่มีรูปนักษัตริย์ไปปักเป็นพุทธบูชาที่เจดีย์ทรายในวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้มีแต่ความสุขตลอดทั้งปี  การนำเนื้อหาเหล่านี้มาประดับเสา ก็เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งความปิติ ผู้ที่ผ่านเข้ามาในดินแดนสุขสยามก็จะมีแต่ความสุข อบอุ่นใจ สมชื่องานที่ว่า “ปิติ เบิกบานใจ”
 

 

ประตูเมืองสุขสยาม

ผลงาน : ประตูเมืองสุขสยาม 
ศิลปิน : อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ และสรพล หรีรักษ์
ขนาด : 5 x 7.6 เมตร
วัสดุ : ไม้มะม่วงป่า
เทคนิค : แกะสลักไม้
อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ผู้ออกแบบประตูเมืองสุขสยาม เริ่มคิดงานชิ้นนี้มาจากคำว่า “ยิ้มสยาม” ก่อนจะย้อนกลับไปสำรวจรากเหง้าความเป็นไทย แล้วจึงออกแบบประตูที่เล่าถึงวิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปะและวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยงานนี้อาจารย์อำมฤทธิ์ทำงานร่วมกับคุณสรพล หรีรักษ์ ศิลปินแกะสลักไม้ ผู้ยึดแนวคิดเรื่อง “ความสุขของชาวสยาม” เป็นแนวทางในการทำงาน ศิลปินทั้งสองบรรจุวิถีชีวิตของผู้คนชาวสยามแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปในบานประตู เพื่อให้ผู้ที่เดินผ่านประตูนี้ได้พิจารณาทุกมิติของความสนุกและความสุขแบบไทยๆ ที่ซ่อนไว้ในทุกรายละเอียด